Column Right

Web Technology


บทนำ
ในโลกของการศึกษาที่มีการพัฒนาตามไปพร้อมๆกับพัฒนาการในทุกๆด้านของโลกส่งผลให้เกิดนวัตกรรมที่ใช้กับวงการศึกษาทั้งที่เกิดขึ้นมาใหม่และที่พัฒนาต่อยอดจากสิ่งเดิมมากมาย หลากหลายวิธีการ ทั้งที่เป็นระบบเฉพาะ หรือในรูปของชนิดของสื่อรูปแบบใหม่ หรือที่พัฒนาเนื้อหาเฉพาะบนระบบที่คล้ายกัน ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นได้เป็นส่วนช่วยให้การเรียนรู้ มีความเข้าใจได้ง่ายขึ้น เรียนรู้ได้รวดเร็ว ปลอดภัย มีประสิทธิภาพต่อการตรึงพฤติกรรมในการเรียนรู้ได้ยาวนาน นวัตกรรมเชิงระบบที่กำลังเป็นช่องทางในการจัดการศึกษาที่สำคัญอีกอย่างก็คือ เทคโนโลยีเว็บ ซึ่งเทคโนโลยีเว็บ ก็มีพัฒนาการอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ จากเทคโนโลยีเว็บที่เรียกว่า Web 1.0 ก็พัฒนามาสู่ Web 2.0 และขณะนี้เราอยู่ในช่วงรอยต่อของ Web 2.0 ไปสู่ ยุค Web 3.0

PC era
Web 1.0
Web 2.0
Web 3.0
1980-1990 1990-2000 2000-2010 2010-2020
Desktop
PC's
Windows
MacOS
USENET
FTP
e-mail

File System
File Server
Databases
www
HTML
HTTP
Gopher
BBS

website
Groupware
www
Java Script
Flash
XML
Ajax
P2P

Directory Portal
Weblog
wikis
Social Network
Sementic Web
SWRL
SPARQL

widget
Sementic-database
Distributed -Search

ลักษณะเฉพาะที่สำคัญ
นับตั้งแต่มีการพัฒนาเครือข่ายในยุคเริ่มต้น โดย ARPANET (Advanced Research Projects Agency NETwork) ในปี ค.ศ. 1969 (พ.ศ. 2512) จนถึงวันนี้ อาจนับได้ว่าเป็นเวลากว่า 40 ปี ที่เครือข่ายอินเทอร์เน็ตได้ถือกำเนิดขึ้น และได้มีการเปลี่ยนแปลงและการพัฒนาสิ่งต่างๆ มากมาย โดย ณ จุดเริ่มต้น ทางกระทรวงกลาโหม ประเทศสหรัฐอเมริกาได้ริเริ่มทำการพัฒนาเครือข่าย ARPANET ขึ้น เพื่อเป็นเครือข่ายสำนักงานโครงการวิจัยชั้นสูง โดยมีวัตถุประสงค์หลักของเครือข่ายคือ การทำให้คอมพิวเตอร์สามารถเชื่อมต่อและมีปฏิสัมพันธ์กันได้

หลังจากนั้นได้มีการคิดค้นโครงการเชื่อมโยงข้อมูลข่าวสารขึ้นมา หรือที่เรียกกันว่าเวิร์ลไวด์เว็บ (World Wide Web) โดยใช้ระบบไฮเปอร์เท็กซ์ ซึ่งรูปแบบการนำเสนอที่เป็น ข้อความเป็นหลัก โดยมีการเชื่อมโยงระหว่างกัน ทั้งภายใน และภายนอก และไปยังส่วนที่เกี่ยวข้อง ในเวลาต่อมาผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีและอินเทอร์เน็ตได้มีการจำแนกยุคแห่งพัฒนาการของเวิลด์ ไวด์ เว็บ ไว้เป็นช่วงๆ โดยใช้คำแทนห้วงเวลาของพัฒนาการแต่ละยุคของอินเทอร์เน็ตไว้เป็นเวอร์ชัน โดยกำหนดเป็นช่วงเวลาไว้ เราลองมาศึกษาเทคโนโลยีเว็บในแต่ละช่วง ทั้งที่ผ่านมาและที่จะมีมาในอนาคตกัน

เทคโนโลยีเว็บยุค Web 1.0
ในยุคแรกซึ่งขณะนั้น ยังไม่มีการแบ่งยุคของเทคโนโลยีเว็บ เว็บไซต์บนอินเทอร์เน็ต ถือได้ว่าเป็นเพียงจุดเริ่มต้น การเข้าถึงค่อนข้างลำบาก มีองค์ประกอบและเทคนิคค่อนข้างมากมายไม่ว่าจะเป็นโปรแกรม browser หรืออุปกรณ์เชื่อมต่อเครือข่ายที่ยุคต้นๆ ใช้โมเด็มเป็นสื่อการในการเชื่อมต่อไปยังผู้ให้บริการอินเทอรืเน็ตที่เรียกว่า ISP ซึ่งทำให้ค่าใช้จ่ายในการเข้าถึงระบบเครือข่ายสมัยนั้นมีราคาค่อนข้างสูง ประสิทธิภาพการแสดงผลที่ต่ำอันเนื่องมาจากความเร็ว ช่องทางการส่งผ่านข้อมูลค่อนข้างจำกัด จึงยังไม่เป็นที่แพร่หลายมากนัก มีเพียงกลุ่มคนหรือองค์กรเฉพาะเท่านั้นที่ใช้งาน


ดังนั้นการใช้งานเครือข่ายอินเทอรืเน็ตในด้านการศึกษาในยุคต้นๆ จึงยังไม่เป็นที่แพร่หลายนัก มีเพียงการส่งข่าวสารกันในระหว่างหน่วยงานการศึกษาที่เป็นเครือข่ายกันเท่านั้น แหล่งเรียนรู้ในโลกออนไลน์ก็ยังอยู่ในลักษณะวงจำกัดที่ยังไม่เปิดกว้าง ทำให้เว็บไซต์ ในยุคนั้นมีลักษณะการแสดงเนื้อหาเป็นข้อความเป็นหลักโดยมีภาพนิ่ง(ขนาดเล็ก)เป็นส่วนประกอบ การแสดงผลในขณะนั้นก็ยังคงต้องใช้เวลาค่อนข้างมาก ดังนั้นการใช้งานส่วนใหญ่จะเป็นในลักษณะของการรับส่งข่าวสารผ่านอีเมล์

และในช่วงปลายของยุค Web 1.0 พัฒนาการด้านเครือข่ายและการสื่อสาร ส่งผลให้ช่องทางและความเร็วในการรับส่งข้อมูลบนอินเทอร์เน็ตทำได้ดีขึ้น นอกจากนี้เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ และระบบปฎิบัติการก็มีพัฒนาการที่ดีขึ้น เทคโนโลยีของ Browser มีการตอบสนองการแสดงผลที่มีประสิทธิภาพที่ดีกว่าแต่เดิม ทำให้การแสดงผลทางเว็บสามารถรองรับไฟล์ภาพและเทคนิคเว็บได้สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น แต่ก็ยังถือว่าเว็บในช่วงนั้นเป็นเว็บในลักษณะการสื่อสารทางเดียว (One-way Communication) เพราะไม่มี การตอบรับจากผู้ที่ได้รับข้อมูล หรือที่เรียกว่า “Read-Only” เจ้าของเว็บไซต์ เป็นผู้ผลิตเนื้อหา และผู้ที่ต้องการข้อมูลจะเข้าไปอ่านจากเว็บไซต์ หรือทำการค้นหาจาก Search Engine ซึ่งเป็นเครื่องมือหรือโปรแกรมในการค้นหาเว็บต่างๆเป็นส่วนใหญ่ ผู้เข้าชมเว็บไซต์ ส่วนใหญ่สามารถทำได้เพียงรับข้อมูลจากเนื้อหาของเว็บไซต์ ทางเดียวเท่านั้น ไม่มีโอกาสในการแสดงความคิดเห็น หรือมีการโต้ตอบกันระหว่างเจ้าของเว็บไซต์ กับผู้เข้าชมเว็บไซต์ ได้ ถึงแม้ว่าในการพัฒนาต่อมาจะมีการนำกระดานข่าว (webboard) มาใช้เป็นแหล่งที่ให้ผู้เข้าชมเว็บไซต์ สามารถแสดงความคิดเห็นหรือแลกเปลี่ยน ข้อมูลข่าวสารกันได้ แต่กระดานข่าวยังไม่ได้มีการจัดเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบเพื่อรองรับการเข้าชมจากผู้ชมเว็บไซต์ คนอื่น รวมไปถึงไม่มีการสนับสนุนหรือตัวช่วยในการค้นหาข้อมูลสำหรับผู้เข้าชมเว็บไซต์ ซึ่งข้อจำกัดต่างๆส่งผลให้มีพัฒนาคิดค้นเว็บไซต์ ให้อำนวยความสะดวกต่อผู้ใช้งานได้มากขึ้น จึงกลายมาเป็นเว็บไซต์ยุค Web 2.0 ในเวลาต่อมา

ตัวอย่างลักษณะของเว็บไซต์ ในยุค Web 1.0 ที่เห็นได้ชัดและถือเป็นยุคทอง ก็ คือ การสร้างเว็บไซต์ บน GeoCities ซึ่งเป็นผู้ให้บริการฟรีโฮสติ้ง ซึ่งผู้เขียนต้องมีความรู้พื้นฐานในการทำเว็บไซต์ และยากที่จะแบ่งปันเนื้อหาออกไป

เทคโนโลยีเว็บในยุค Web 1.0 ที่เห็นได้ชัดเจน ก็คือ
  • doubleClick.com ระบบแปะแบนเนอร์โฆษณาตายตัว
  • ofoto.com เว็บอัลบั้มเก็บรูปออนไลน์แบบเก่า
  • akamai.com เว็บศูนย์กลางรับฝากไฟล์ให้ดาวน์โหลด
  • britannica.com จับสารานุกรมมาออนไลน์ใส่เว็บ
  • Homepage ส่วนตัว ผู้เขียนต้องมีความรู้พื้นฐานการทำเว็บ และยากที่จะแบ่งปันส่งต่อเนื้อหาออกไป
  • แข่งกันจอง Domain Name เป็นเจ้าของชื่อเว็บดีๆ ไว้ขายเก็งกำไร

เทคโนโลยีเว็บยุค Web 2.0
จากเว็บรุ่น Web1.0 ที่ผ่านมา ตัวเนื้อหาที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั่วไปนั้น ภาพรวมของลิขสิทธิ์จะเป็นของเจ้าของเว็บ ที่มีสิทธิใน content ทั้งหมด มีสิทธิ์ที่ไม่ยินยอมนำเนื้อหาสาระที่ทำขึ้นไปลง หรือคัดลอกไปยังเว็บที่อื่น นอกจากนี้ยังอยู่ในลักษณะ read only หรือได้แค่อ่านอย่างเดียว แต่ด้วยความเป็นเครือข่ายที่เปิดกว้างของ Web2.0 กติกานี้จึงเปลี่ยนไป เจ้าของเนื้อหากลับต้องการให้เนื้อหาของตัวเองแพร่หลายมากที่สุด ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือ Youtube ที่มีส่วนคัดลอก Code สั้นๆ แล้วนำคลิปไปฉายในเว็บใดก็ได้ หรือ Blog แทบทุกแห่งก็มี RSS ให้ผู้อ่านเข้าดูผ่านโปรแกรมอื่นๆ หรือเว็บอื่นๆ ได้ Web 2.0 ได้ปฎิวัติจาก read only ไปสู่กระบวนการเผยแพร่ ข้อมูล แสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม และร่วมกันให้ข้อมูล กลายเป็นสังคมแห่งการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ จากการที่“มนุษย์เป็นสัตว์สังคม (Human being is social animal)” คำกล่าวของอริสโตเติ้ล นักปราชญ์ผู้ยิ่งใหญ่ เป็นการอธิบายถึงการใช้ชีวิตของมนุษย์ที่จะต้องมีการพึ่งพาอาศัยกัน ทำกิจกรรมร่วมกัน เพื่อความอยู่รอดและเพื่อสร้างความสุข ความมั่นคงให้กับชีวิต สังคมจึงเป็นแหล่งรวมศูนย์ทางความคิดที่มนุษย์ได้สร้างขึ้นมา เพื่อแสวงหาคำตอบทุกๆอย่างให้กับตนเอง ซึ่งเหตุผลแห่งการที่มนุษย์เป็นสัตว์สังคม อีกทั้งยังมีความต้องการอย่างต่อเนื่อง ในการทำสิ่งต่างๆ เพื่อให้เกิดความสุขและสะดวกสบายใจชีวิต จึงทำให้มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีการพัฒนาและค้นหาหนทางต่างๆเพื่อตอบสนอง ความต้องการของตน ในโลกของเทคโนโลยีเวิลด์ไวด์เว็บ และการออกแบบเว็บไซต์ก็เช่นกัน การที่เว็บไซต์ แบบเดิมนั้นไม่สามารถตอบสนองความต้องการในการแสดงความคิดเห็น การโต้ตอบ หรือการเชื่องโยงและการสร้างเครือข่ายสังคม จึงทำให้มีการพัฒนาและปฏิวัติรูปแบบของเว็บไซต์ และเทคโนโลยีต่างๆ เพื่อให้เกิดการตอบสนองต่อความต้องการมากขึ้น

ในยุคของ Web 2.0 ที่อุปกรณ์คอมพิวเตอร์และองค์ประกอบต่างๆ ที่ต้องใช้ในการเล่นอินเทอร์เน็ตมีราคาถูกลง มีการส่งเสริมและให้ความรู้เกี่ยวกับการใช้งานคอมพิวเตอร์เพิ่มมากขึ้น และอินเทอรืเน็ตได้เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวัน ทำให้จำนวนผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตขยายวงกว้างไปสู่กลุ่มคนแทบทุกกลุ่ม ไม่ขีดเส้นกันที่อายุ หรือระดับการศึกษา จากการเข้าถึงที่ง่ายทำให้ผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตเพิ่มจำนวนสูงขึ้นหลายเท่าเมื่อเทียบกับ ยุคแรกๆ ที่อินเทอร์เน็ตยังไม่มีบทบาทต่อชีวิตประจำวันมากนัก ซึ่งส่งผลให้ความต้องการในการใช้งานส่วนต่างๆ เพิ่มมากขึ้น จึงทำให้มีต้องมีการพัฒนาเว็บไซต์ เพื่อให้ตอบสนองความต้องการและรอบรับการใช้ งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

“Read – Write - Collaborate”
เป็นการกล่าวถึงลักษณะของการแสดงเนื้อหาและการโต้ตอบกันระหว่างเจ้าของ เว็บไซต์ กับผู้เข้าชมเว็บไซต์ ในยุค Web 2.0 ซึ่งมีลักษณะเป็นการที่มีการแบ่งปันความรู้ แลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันและกัน มากกว่าที่จะเป็นเพียงการนำเสนอข้อมูลผ่านเว็บไซต์ เพียงอย่างเดียว ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการร่วมระดมความคิดเห็น การร่วมแชร์ความรู้ ในสาระเรื่องเดียวกัน โดยผู้เข้าชมสามารถทำการแสดงความคิดเห็น หรือทำการสร้างเนื้อหา โดยไม่ต้องเป็นหนึ่งในทีมสร้างเนื้อหาหรือเจ้าของเว็บไซต์ ได้ อีกทั้งผู้เข้าชมยังสามารถกำหนดคุณค่าของเว็บไซต์ หรือบทความผ่านกระบวณการ ต่างๆ เช่นการให้คะแนนเนื้อหา การแนะนำบทความให้กับผู้อื่นเป็นต้น

รูปแบบหรือลักษณะโดยทั่วไปของเว็บไซต์ ในยุค Web 2.0 นั้นมีการพัฒนาให้มีการโต้ตอบ ระหว่างผู้ใช้ได้ง่ายขึ้น และมีความหลากหลายใน การตอบสนองความต้องการของผู้ใช้มากขึ้น เช่น ผู้ใช้สามารถสร้างเนื้อหาใหม่ได้ อย่างรวดเร็วโดยไม่ต้องมีความรู้ทางเทคนิค , สามารถเผยแพร่ความรู้และประสบการณ์ของตนได้อย่างง่ายดาย, สามารถแบ่งปันข้อมูลไปยังเครือข่ายออนไลน์, สามารถแสดงความคิดเห็น และทัศนคติอย่างตรงไปตรงมา และเปิดกว้าง เป็นต้น

สิ่งต่างๆเหล่านี้แสดงให้เห็นว่า Web 2.0 มีส่วนช่วยในการสนับสนุนการสร้างสังคมที่มีความเกื้อหนุนกัน ทางด้านความรู้ และการรวมกลุ่มของเนื้อหาที่เป็นประโยชน์ที่เกิดจากการคิดร่วมกัน การแสดงเนื้อหา ความรู้ที่มี เป็นสังคมแห่งการแบ่งปัน ตัวอย่าง ลักษณะของเว็บไซต์ ในยุค Web 2.0 เช่น Wikipedia ซึ่งเป็นสารานุกรมออนไลน์หลายภาษาที่แจกจ่ายในลักษณะเนื้อหาเสรีที่ให้ผู้ ใช้สามารถสร้าง แก้ไข และปรับปรุงเนื้อหาร่วมกันได้อย่างแทบไม่มีขีดจำกัด, flickr แหล่งออนไลน์ในการ “ฝากและแสดง” ภาพถ่ายดิจิตอล โดยมีการให้ใส่คำจำกัดความของรูปภาพหรือที่เรียกว่า “Tag” เพื่อเป็นตัวช่วยในการจัดระบบและการค้นหาข้อมูล, Blog เว็บไซต์ ส่วนตัวสำเร็จรูปที่ช่วยให้การเผยแพร่ความรู้และประสบการณ์ทำได้ อย่างง่ายดาย

เทคโนโลยีเว็บในยุค Web 2.0 นี้ที่เห็นได้ชัดเจน ก็คือ

  • Google Adsense ระบบโฆษณาเป็นลิงค์ตามแต่คำที่ผู้ใช้ค้นหา
  • flickr.com เว็บอัลบั้มเก็บและแชร์รูปออนไลน์ที่มีการโยงใยเป็นชุมชน ส่งต่อรูปกันง่าย
  • BitTorrent ระบบที่ผู้ใช้ต่างก็ดาวน์โหลดไฟล์จากกันและกันเอง
  • wikipedia.com เว็บสารานุกรมที่ผู้ใช้บัญญัติคำกันเอง ให้ความหมายกันเอง และแก้ไขคำของคนอื่นได้ตลอดเวลา
  • Blog เขียนง่าย ใส่รูป เสียง คลิปได้ง่ายๆ เหมือนส่งเมล เผยแพร่ส่งต่อได้กว้างขวาง
  • SEO (Search Engine Optimization) ลงทุนกับเทคนิคทำให้ลิงค์เว็บบริษัทตัวเองได้อยู่หน้าแรกบนๆ ใน Google, เสิร์ชอื่นๆ

เทคโนโลยีเว็บยุค Web 3.0
แนวโน้มในส่วนของ Web 3.0 ที่มีการกล่างถึงกันมากขึ้นในวงการไอทีนั้นยังไม่มีรายละเอียดที่ชัดเจนมาก นัก เนื่องจากยังไม่มีการนิยามและตัวอย่างของเว็บไซต์ ออกมาให้เห็นกันอย่างชัดเจน เป็นเพียงแนวโน้มของการพัฒนาที่กลุ่มคนบางกลุ่มที่ต้องการพัฒนาเว็บไซต์ ใน อนาคตให้สามารถตอบสนองความต้องการของผู้ใช้มากขึ้นเท่านั้น

แนวคิดของ Web 3.0 นั้นเป็นเหมือนกันนำ Web 2.0 มาทำการพัฒนาและต่อยอด โดยมีการปรับปรุงและแก้ไข Web 2.0 ให้ดีขึ้น เนื่องจากในยุค Web 2.0 นั้นผู้ใช้มีการสร้างเนื้อหาได้อย่างสะดวกและง่ายดายทำให้ มีจำนวนเนื้อหาจำนวนมากไม่ว่าจะเป็น บล็อค, รูปภาพ, ไฟล์มัลติมีเดียต่างๆ ซึ่งส่งผลต่อมาก็คือ ปัญหาในการค้นหาและเข้าถึงข้อมูล จึงมีความจำเป็นที่จะต้องหาแนวคิดหรือวิธีการในการจัดการข้อมูลให้เป็นระบบ และมีการเชื่อมโยงถึงกัน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการค้นหาและเข้าถึง โดยแนวคิดดังกล่าวนั้นเป็นที่มาของการพัฒนาไปสู่ยุค Web 3.0 นั่นเอง

“Read – Write – Execute”
เป็นการคาดการณ์ลักษณะของการแสดงเนื้อหาและการโต้ตอบกันระหว่างเจ้าของ เว็บไซต์ และผู้เข้าชมเว็บไซต์ ในยุค Web 3.0 ซึ่งมีลักษณะเป็นการที่ผู้ใช้สามารถอ่าน เขียน และทำการจัดการเนื้อหาและปรับแต่งแก้ไขข้อมูลหรือระบบได้อย่างอิสระ หรือในอีกลักษณะหนึ่งของ Web 3.0 คือ “Read – Write – Relate” เป็นลักษณะของการเชื่อมโยงข้อมูลเข้าด้วยกันมากขึ้นแทนที่จะเป็นเพียงข้อมูล ที่สามารถอ่านและเขียนได้เท่านั้น ซึ่งจะมีประโยชน์ต่อมาคือเมื่อเราสามารถหาความสัมพันธ์และการเชื่อมโยง ข้อมูลต่างๆได้ ก็จะทำให้เราเข้าใจความหมายของเครือข่ายการเชื่อมโยงต่างๆมากขึ้น

รูปแบบหรือลักษณะโดยทั่วไปของเว็บไซต์ ในยุค Web 3.0 นั้นมีการกล่าวกันว่าเว็บไซต์ จะมีการพัฒนาให้กลายเป็น Semantic Web ซึ่งเป็นการสร้างเครือข่ายของข้อมูลขึ้นมาเพื่อความสะดวกในการค้นหาและเข้า ถึงได้อย่างรวดเร็วทำให้มีการเชื่อมโยงความสัมพันธ์กับเแหล่งข้อมูลอื่นๆ ที่มีเนื้อหาสัมพันธ์กันได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมไปถึงการทำให้เว็บไซต์ มีลักษณะของ Artificial intelligence (AI) ซึ่งทำให้เว็บไซต์ สามารถตอบสนองผู้ใช้งานได้อย่างชาญฉลาด คอมพิวเตอร์สามารถเข้าใจความต้องการของผู้ใช้มากขึ้น และสามารถแสดงข้อมูลเฉพาะส่วนที่ตรงตามความต้องการของผู้ใช้ได้

ตัวอย่างลักษณะเทคโนโลยีของเว็บไซต์ ในยุค Web 3.0
Search Engine Google ที่เมื่อเราทำการสะกดคำที่ต้องการค้นหาผิด Google สามารถรู้ได้ว่าคำที่เราต้องการหาเป็นอะไร และทำการแสดงผลของคำที่เราน่าจะต้องการมาให้
แม้ว่าเรายังไม่ได้ก้าวเข้าสู่ยุค Web 3.0 อย่างเต็มตัว แต่คาดว่า การมาของเทคโนโลยีเว็บ นำมาพาให้เกิดสิ่งใหม่ๆ ที่จะเข้าแทนที่ เทคโนโลยีเดิม หลายประการ อาทิ html 5.0 จะเข้าบทบังเทคโนโลยี flash animation ได้อย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่

วิธีการเรียนรู้
เทคโนโลยีเว็บ ไม่ว่าจะเป็น Web 1.0 หรือ Web 2.0 หรือที่กำลังพัฒนาก้าวไปสู่ Web 3.0 ก็ตาม วิธีการเรียนรู้พื้นฐานจะไม่แตกต่างกันมากนัก เพียงแต่เทคโนโลยีเหล่านี้ นำมาซึ่งกระบวนการนำเสนอข้อมูลที่เสมือนจริงมากยิ่งขึ้น มีมิติในการแสดงผลที่มีมุมมองเชิงสามมิติที่ชัดเจน การตอบสนองการแสดงผลที่รวดเร็ว ระบบมีความฉลาดมากขึ้นในการเก็บข้อมูล จดจำข้อมูลของผู้ใช้งาน รวมไปถึงสามารถแสดงผลได้รวดเร็วแม้ว่าปริมาณข้อมูลจะใหญ่หรือมากขึ้น เวลาในการแสดงผลที่เร็วขึ้น แต่ผลกระทบต่อระบบเว็บไซต์ยุคเก่าก็คือ ขนาดของ resulution หน้าจอ การเป็นสื่อความรู้ที่มีเพียงข้อความและภาพประกอบ อาจจะไม่เพียงพอต่อการเรียนรู้ ดังนั้นผู้พัฒนาเว็บไซต์ในยุคเทคโนโลยี web 1.0 อาจจะต้องปรับปรุงหรือรื้อหน้าเว็บเกือบทั้งหมด เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงที่แปรเปลี่ยนไป
ณ วันนี้ อาจจะยังไม่มีบทสรุปของ Web Technology พัฒนาการยังมีต่อไปอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าปัจจุบันอาจกล่าวได้ว่าเราอยู่ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีเว็บ web 2.0 ไปสู่ web 3.0 ซึ่งทิศทางและแนวโน้มของการพัฒนาเว็บไซต์ในปัจจุบันซึ่งก็คือ ยุค web 3.0 นั้นยังอยู่บนเส้นทางที่มีพัฒนาอีกยาวไกล เทคโนโลยีหลายอย่างได้ถูกพัฒนาขึ้นภายใต้กรอบเทคโนโลยีเดิม แต่ก็มีบางอย่างที่เป็นสิ่งใหม่ ที่เว็บเดิมๆ ต้องมีการปรับเปลี่ยนตาม ซึ่งส่งผลกระทบต่อเว็บไซต์ทางการศึกษามากมายที่ถูกเขียน หรือพัฒนาด้วยเทคโนโลยีเว็บแบบเก่าๆ ซึ่งปัจจุบันพบว่าเทคโนโลยีเว็บ 3.0 ยังคงมีการปรับเปลี่ยนในหลายๆส่วน บางส่วนก็ยังไม่มีจุดหมายที่แน่นอน มีการโต้เถียงในเรื่องความเป็นไปได้และข้อดี ข้อเสีย อีกมากมาย แต่อย่างน้อยพัฒนาการใหม่ของ เวิร์ล ไวด์ เว็บ ก็เริ่มต้นอีกครั้งในช่วงรอยต่อของ web 2.0 ก้าวไปสู่ web 3.0


นอกจากนี้ได้มีการคาดการณ์ว่า เทคโนโลยีในยุคที่ 3 ที่กำลังอยู่ในช่วงของการพัฒนา และเทคโนโลยีเว็บ ยุคที่ 4 จะเปลี่ยนแปลงโลกออนไลน์ไปในทิศทางใด โดยได้แสดงพัฒนาการเปลี่ยนแปลงด้วยกราฟ ด้านล่าง

เส้นทางของเทคโนโลยีเว็บซึ่งมีพัฒนาการอย่างต่อเนื่อง เป็นปัจจัยสำคัญส่งผลให้นวัตกรรมทางการศึกษาเกิดขึ้นมามากมาย ทั้งที่เป็นระบบเฉพาะ หรือ เนื้อหาเฉพาะบนระบบที่คล้ายกัน ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นได้เป็นส่วนช่วยให้การเรียนรู้ มีความเข้าใจได้ง่ายขึ้น เรียนรู้ได้รวดเร็ว ปลอดภัย ด้วยเทคโนโลยีในปัจจุบัน กำลังต่อยอด เติมเต็มกระบวนการจัดการศึกษาที่สนองต่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต ได้ ในทุกที่ ทุกช่วงเวลา เท่าที่ผู้เรียนต้องการ จาก e-learning เติมเต็มด้วย m-learning และขณะนี้ สังคมการเรียนรู้ กำลังจะก้าวเข้าสู่ยุก U-Learning หรือที่เรียกว่า Ubiquitous Learning


เราคงจะพบกับการเปลี่ยนแปลงของกระบวนการเรียนรู้ ผ่านฐานเทคโนโลยี และนวัตกรรมใหม่ๆอีกมาก ที่สำคัญ ครู จะต้องก้าวตามให้ทัน เพื่อนำพา กระบวนการจัดการศึกษา ให้ก้าวทันต่อการเปลี่ยนแปลง เพราะหากให้ผู้เรียน โดยเฉพาะเด็กและเยาวชน เป็นผู้แสวงหา เข้าไปสำผัสช่องเหล่านั้นด้วยตัวเอง ขาดการชี้นำอย่างถูกต้อง สิ่งที่ได้ อาจไม่ใช่ความรู้ที่ช่วงวัยของผู้เรียนจะได้รับ แต่สิ่งที่ได้รับนั้นอาจกลายเป็นผลเสียอย่างร้ายต่อตัวผู้เรียน ลามขยายไปสู่สังคมการเรียนรู้ของกลุ่มผู้เรียนไปด้วย

ไม่มีความคิดเห็น

Do not recommend gambling sites of any kind. If violated, will be prosecuted according to the law.

ขอบคุณที่ได้ให้ความสนใจบทความ ใน mediathailand network ครับ

new story

Recent Posts Widget