Column Right

อุทยานการศึกษา

“การศึกษาคือกระบวนการที่ทำให้คนและสังคมเจริญงอกงาม ยิ่งเรียนยิ่งขยัน ยิ่งเรียนยิ่งอดทน ยิ่งเรียนยิ่งซื่อสัตย์ ยิ่งเรียนยิ่งมีความกตัญญู ยิ่งเรียนยิ่งรักปู่ย่าตายาย ดูแลปู่ย่าตายาย ไปไหนก็ดูแลซึ่งกันและกัน บ้านเมืองก็จะมีแต่ความสุข”

เนื้อหาในส่วนนี้ได้รวบรวมสาระ แนวคิด บทความของท่าน ดร.โกวิท วรพิพัฒน์ ที่เป็นผู้ให้นิยาม คำว่า คิดเป็น"กระบวนการคิดเพื่อตัดสินใจ" โดยใช้ข้อมูล 3 ด้าน คือ ข้อมูลส่วนตัว ข้อมูลทาง สังคมหรือสิ่งแวดล้อม และข้อมูลทางวิชาการ ปรัชญา "คิดเป็น" มีรายละเอียดและสาระที่น่าศึกษา



อุทยานการศึกษา
ตามแนวคิด ดร. โกวิท วรพิพัฒน์
"คิดเป็น มาจากแนวคิดที่ว่า ธรรมชาติของมนุษย์ ทุกคนต้องการความสุข คนคิดเป็นจะสามารถดำรงชีวิต ให้พบความสุขได้"

ในเมืองไทยเรามีครู -อาจารย์ ผู้ใหญ่หลาย ๆ ท่านชอบสอนเพื่อนครูด้วยกันเองและลูกศิษย์ลูกหาว่า ครูมี 2 ประเภท คือ "ครูที่พูดได้" และ "ครูที่พูดไม่ได้"



"ครูพูดได้" คือครูที่พวกเรารู้จักกันดี เราถือว่าท่านเป็นปูชนียบุคคล เป็นผู้ที่เราเคารพนับถือ ท่านมักจะพร่ำสอนให้เราเป็นคนดี ขยัน อดทน ซื่อสัตย์ คิดเป็น ทำเป็น แก้ปัญหาเป็น พยายามให้เราเห็นช่องทางในการประกอบอาชีพ ให้เราพึ่งพาตนเองได้ สามารถทำงานเป็นกลุ่ม และสามารถมีส่วนร่วมในการปกครองตามระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ส่วน "ครูที่พูดไม่ได้" คนจะไม่ค่อยรู้จัก แต่กล่าวกันว่า ครูที่พูดไม่ได้ สอนเราไม่น้อยกว่า ครูที่พูดได้ ครูที่พูดไม่ได้ แท้จริงคือสิ่งแวดล้อมรอบๆ ตัวเรานั่นเอง หากสิ่งแวดล้อมสะอาด ร่มรื่น สดชื่นแจ่มใสเป็นกันเอง เราก็จะสบายใจ สะอาด ร่มรื่น แจ่มใส และจิตใจดี หน้าตาก็พลอยแจ่มใสไปด้วย โบราณมีคำภาษิตที่กล่าวถึงอิทธิพลของครูที่พูดไม่เป็นจำนวนมาก เช่น คบคนพาล พาลพาไปหาผิด คบบัณฑิต บัณฑิตพาไปหาผล หรืออยู่กับโจรมักเป็นโจร อยู่กับบัณฑิตมักเป็นบัณฑิต

อุทยานการศึกษาเกิดขึ้นจาก แนวคิดเรื่องครูพูดได้ และครูที่พูดไม่ได้ นี้ และในขณะนี้ได้พัฒนาแนวคิดติดต่อกันมาตามลำดับ เช่น เรื่องการพัฒนาวัด การพัฒนาโรงเรียนให้เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ ให้ร่มรื่น ให้สงบ การถวายความรู้ให้ภิกษุ สามเณร ครูอาจารย์ ให้มีความรู้ และจะได้สั่งสอนประชาชนและลูกศิษย์ลูกหา มีการจัดตั้งห้องสมุดโรงเรียน ห้องสมุดประชาชน ห้องสมุดวัด และมีการทำนุ บำรุง และอนุรักษ์ และ(หรือ)การพัฒนาหอไตร เป็นต้น ทางกระทรวงศึกษาธิการ ระยะหลังมีโครงการจัดสวนป่าในโรงเรียน ในวัด มีการพัฒนาวัดและโรงเรียนให้สะอาดร่มรื่น สงบ สวยงาม มีระเบียบ มีโครงการส่งเสริม "สวนสวย โรงเรียนงาม" และมีวารสารชื่อเดียวกันนี้เผยแพร่ผลงานและเผยแพร่ความคิด เชื่อว่าอุทยานการศึกษา โดยแนวคิดกว้างๆ ซึ่งหมายถึง สงบ หรือสถานที่ร่มรื่น มีความสะอาดเป็นระเบียบสวยงาม จะเป็นแหล่งความรู้ เป็นแหล่งกล่อมเกลาจิตใจผู้คนที่เข้าไปอยู่ เข้าไปใช้ ให้ละเอียดอ่อน และทำให้คนเจริญงอกงาม หากโรงเรียนในประเทศไทยสามหมื่นกว่าโรงเรียน วัดอีกกว่าสามหมื่นวัด ซึ่งในปัจจุบันวัดหลายหมื่นวัด โรงเรียนหลายโรงเรียน ได้มีลักษณะที่สามารถกล่าวได้ว่าเป็นอุทยานการศึกษาในแนวคิดที่พูดถึงแล้ว

หากทั้งโรงเรียนและวัดกว่าหกหมื่นแห่งได้พัฒนาไปในแนวทางแห่งแนวคิดอุทยานการศึกษา ซึ่งคงจะมีรูปแบบรายละเอียดแตกต่างกันไปตามสภาพ แต่เน้นในหลักการแห่งความสะอาด สงบ ร่มรื่น และเป็นแหล่งวิชาการการเรียนรู้ และโดยทางตรงและทางอ้อม อิทธิพลของครูที่พูดไม่ได้เสริมโดยครูพูดได้ คงจะช่วยให้ปวงชน สังคมบ้านเมืองสะอาด สงบ รื่นรมย์ แจ่มใส คงจะทำให้เด็ก เยาวชนและประชาชนทั่วไป สามารถอยู่ในสังคมได้อย่างเข้าใจ ประสมกลมกลืนกับธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และมีความสุขตามที่เราปรารถนามากยิ่งขึ้น

วัตถุประสงค์ 
  1. เพื่อให้ครู อาจารย์ ภิกษุ สามเณรชุมชน องค์กรทั้งฝ่ายเอกชนและราชการได้ร่วมกันพัฒนาโรงเรียน สถาบัน การศึกษา วัด ฯลฯ เป็นอุทยานการศึกษา
  2. เพื่อให้นักเรียน ประชาชนและผู้ที่เกี่ยวข้อง เห็นว่า ความดีงาม ความสงบสุข ความร่มรื่น ความแจ่มใส ความเป็นระเบียบ สิ่งแวดล้อมที่ดีที่น่าภาคภูมิใจนั้น เราทุกคนทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ยากดีมีจน สามารถสร้างสรรค์เพื่อประโยชน์แห่งตนและผู้อื่น ชุมชนและประเทศชาติได้
  3. เพื่อให้มีแหล่งการเรียนรู้ ทั้งจากสิ่งแวดล้อม จากการปฏิบัติจริงและจากครู อาจารย์ ข่าวสารข้อมูล กระจายอยู่ทั่วไปทั้งในเมือง นอกเมือง ทั้งชุมชนเล็ก ชุมชนใหญ่
  4. เพื่อให้แนวคิดเรื่องอุทยานการศึกษาซึมซาบเข้าไปในชีวิตจิตใจของประชาชนทุกเพศทุกวัย และเข้าไปในวิถีชีวิตขอความแจ่มใสจะขยายเข้าไปอยู่ในบ้านเรือน ครอบครัว และชุมชนทุกระดับปวงชน ความสะอาด ความเรียบง่าย ความร่มรื่น ความสวยงาม ความสงบ

วิธีดำเนินการ
  1. ประชาสัมพันธ์ ทำความเข้าใจกับครู-อาจารย์ ผู้บริหาร ภิกษุ-สามเณร พระเถระ มหาเถรสมาคม และประชาชนทุกระดับ
  2. รัฐบาล สมาชิกรัฐสภา ถือเป็นนโยบายแห่งรัฐ เป็นเป้าหมายที่จะพัฒนาสถานที่ของรัฐ โดยเฉพาะโรงเรียน วัด ให้เป็นอุทยานการศึกษา โดยให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วม และให้อิสระในการแปรความคิดออกมาให้เป็นรูปแบบ ทั้งนี้ให้มีเป้าหมายร่วมในเชิงแนวคิด คือ ความสงบ ความสะอาด ความเป็นระเบียบ ความแจ่มใส ความร่มรื่น และเป็นแหล่งความรู้และข้อมูล
  3. ส่งเสริมสนับสนุนตัวร่วมที่จำเป็นตามกำลัง นอกจากดำเนินการตามข้อ 1 และข้อ 2 แล้ว อาจมีเรื่องแหล่งน้ำ ระบบน้ำดื่ม น้ำใช้ในโรงเรียน (ความร่มรื่นต้องอาศัยแหล่งน้ำ) เมล็ดหรือกล้าไม้ คัมภีร์/หนังสือ (รวมทั้งเครื่องมืออุปกรณ์การสื่อสารสมัยใหม่ วิทยุ โทรทัศน์ คอมพิวเตอร์ โทรสาร ฯลฯ)
  4. ส่งเสริมองค์กรในท้องถิ่น ให้มีกำลังความคิด กำลังความรู้ กำลังการตัดสินใจ โดยเฉพาะวัด โรงเรียน องค์กรเอกชน ความเป็นนิติบุคคลของสภาตำบล ฯลฯ
  5. จัดและส่งเสริมให้มีนระบบข้อมูล และระบบการนิเทศติดตามการให้ความยอมรับ การยกย่อง เช่น ให้มีการบันทึกข้อมูลโดยคอมพิวเตอร์ ประวัติและแนวคิดในการพัฒนาอุทยานการศึกษาเป็นรายสถาบัน รายวัด รายโรงเรียน จัดให้มีหน่วยงานไปติดป้ายยกย่องว่า วัดแห่งนี้ สถาบันการศึกษาแห่งนี้ ได้รับการยกย่องให้เป็นอุทยานการศึกษา เป็นตัวอย่างแก่สถาบันการศึกษาอื่นๆ ได้

ไม่มีความคิดเห็น

Do not recommend gambling sites of any kind. If violated, will be prosecuted according to the law.

ขอบคุณที่ได้ให้ความสนใจบทความ ใน mediathailand network ครับ

new story

Recent Posts Widget