สื่อเสียงและรายการวิทยุ
ความหมายของรายการวิทยุกระจายเสียงและสื่อเสียง
คำว่า วิทยุ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงบัญญัติขึ้นเพื่อใช้แทนคำว่า เรดิโอ (Radio) ในภาษาอังกฤษ ซึ่งหมายถึงการรับและส่งข่าวด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าหรือคลื่นวิทยุโดยไม่ต้องใช้สายเชื่อมต่อกันระหว่างเครื่องรับกับเครื่องส่ง หากส่งข่าวสารเป็นรหัสสัญญาณไฟฟ้าเพียงอย่างเดียว แทนภาษาพูด ก็เรียกว่าวิทยุโทรเลข (Radio Telegraph) คือการส่งโทรเลขโดยใช้คลื่นวิทยุนั่นเอง หากส่งให้ออกเป็นเสียงพูดหรือเสียงอื่นได้โดยตรงเรียกว่า วิทยุกระจายเสียง (Radio Broadcasting) เช่น การส่งกระจายเสียงของสถานีวิทยุกระจายเสียงต่างๆ ที่รับฟังกันอยู่ทั่วไป
วิทยุกระจายเสียง ตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พุทธศักราช 2542 ให้คำนิยามไว้ว่า
วิทยุ หมายถึงกระแสคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าฃนิดที่เคลื่อนไปตามอากาศโดยไม่ต้องใช้สาย และอาจเปลี่ยนเป็นเสียงหรือรูปได้ เรียกเครื่องที่มีหน้าที่เปลี่ยนคลื่นเสียงให้เป็นคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าออกสู่อากาศว่า เครื่องส่ง เรียกเครื่องที่มีหน้าที่เปลี่ยนคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่รับได้จากเครื่องส่งวิทยุให้กลับเป็นคลื่นเสียงตามเดิมว่า เครื่องรับวิทยุ
ส่วนวิทยุกระจายเสียง ก็คือ การแพร่สัญญาณเสียงออกอากาศโดยใช้คลื่นวิทยุ
วิทยุกระจายเสียง เป็นสื่อมวลชนประเภทหนึ่ง ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการนำเสนอข่าวสารไปสู่ประชาชนได้อย่างกว้างขวาง มีข้อได้เปรียบมากกว่าสื่อมวลชนอื่นๆหลายประการเช่น วิทยุกระจายเสียงสามารถเสนอข่าวได้รวดเร็วกว่าหนังสือพิมพ์ มีราคาถูกกว่าวิทยุโทรทัศน์ สามารถออกอากาศเสนอข่าวได้ในทันที ขณะที่เหตุการณ์เกิดขึ้น และสามารถติดตามรายงานเหตุการณ์เหล่านั้นได้อย่างต่อเนื่อง สามารถเสนอข่าวได้บ่อยครั้ง ทั้งในรูปของรายการข่าวภาคย่อยที่กำหนดไว้ในทุกต้นชั่วโมง หรือทุกครึ่งชั่วโมง และในภาคหลัก ตัวอย่างเช่นสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย มีข่าวภาคหลัก ได้แก่ ข่าวภาค 7.00 น., 12.00 น., 19.00 น., 20.00 น. หรืออาจจะแทรกรายงานข่าวสั้นๆออกอากาศในช่วงรายการอื่นๆของทางสถานี หากมีกรณีสำคัญเร่งด่วน ข้อได้เปรียบของการรับฟังข่าววิทยุกระจายเสียงอีกประการหนึ่งคือ ผู้ฟังสามารถทำกิจวัตรประจำวันหรืองานอื่นๆไปพร้อมๆกันด้วยก็ได้
ดังนั้นอาจจะกล่าวได้ว่า วิทยุกระจายเสียง หมายถึง กระบวนการส่ง สาระ หรือข่าวสารในรูปของสัญญาณความถึ่ีเสียงผนวกรวมแพร่กระจายไปพร้อมกับคลื่นวิทยุหรือคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าไปถึงกลุ่มเป้าหมายได้โดยตรง
วัตถุประสงค์ของการผลิตรายการวิทยุกระจายเสียงและสื่อเสียง
วัตถุประสงค์ของการผลิตรายการวิทยุกระจายเสียงโดยทั่วไปจะสอดคล้องกับการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน 4 ประการสำคัญ คือ
- เพื่อแจ้งข่าวสารให้ทราบ (To inform) คือ การที่ผู้ผลิตรายการต้องการจะบอก แจ้ง หรือชี้แจงข้อมูล เรื่องราวข่าวสารเพื่อให้ผู้ฟังทราบ
- เพื่อให้การศึกษา (To Educate) คือ การให้ข้อมูลความรู้ในเชิงวิชาการด้วยการใช้ภาษาที่ง่ายต่อการทำความเข้าใจของผู้ฟัง
- เพื่อให้ความบันเทิง (To entertain) คือ การทำให้ผู้ฟังเกิดความเพลิดเพลิน ผ่อนคลาย
- เพื่อการชักจูงใจ หรือเสนอแนะ (To persuade) คือ การทำหน้าที่ในการชักจูงผู้ฟังเพื่อให้เกิดการคล้อยตาม หรือทำตามข้อเสนอแนะนั้นๆ
ลักษณะเฉพาะที่สำคัญ
ลักษณะเฉพาะในรูปของตัวสื่อ
- กลุ่มของรายการวิทยุกระจายเสียง
กลุ่มนี้จะอยู่ในรูปของสัญญาณเสียงที่รวมกับคลื่นความถี่(วิทยุ) ทั้งระบบ AM ระบบ FM คลื่นความถี่ดาวเทียม ซึ่งปัจจุบันรวมความหมายไปถึงรายการวิทยุกระจายเสียงบนอินเทอร์เน็ตด้วย - กลุ่มของสื่อเสียง
สื่อเสียงจะถูกบันทึกภายใต้เทคโนโลยี 2 ประเภท คือ จะบันทึกลงในรูปของ สัญญาณดิจิตอล(ไฟล์เสียง) และ ในรูปของสัญญาณแม่เหล็ก(เส้นแถบแม่เหล็กในม้วนเทปแบบต่างๆ ซึ่งปัจจุบันแทบจะหาไม่ได้แล้ว)
แต่ถ้ามองลักษณะที่อยู่ในรูปของประเภทสัญญาณความถึ ก็แบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทเช่นเดียวกัน คือ
- ข้อมูลสื่อแบบ Analog
สื่อประเภทนี้จะอยู่ในรูปของเส้นแถบแม่เหล็ก เป็นสื่อที่ได้รับความนิยมสูงสุดในช่วงปี 1970-1990 สื่อเส้นแถบแม่เหล็กมีอยู่หลากหลายลักษณะ อาทิ ตลับเทปแคสเซท (compact Cassette) เทป 8 แทร็ค เทปรัลหรือตั้งโต๊ะ(ส่วนใหญ่ใช้ในห้องจัดรายการวิทยุและห้องบันทึกเสียง) โดยสัญญาณเสียงจะถูกบันทึกไว้ในแถบแม่เหล็ก รูปแบบคลื่นสัญญาณจะเป็นลักษณะ sinewave ดังภาพด้านล่าง
ปัจจุบัน สื่อ Analog แทบจะหายไปจากวงการเกือบหมดแล้ว อาจจะยังคงพอเห็นได้บ้างก็เป็นประเภทเทปแคสเซต
- ข้อมูลสื่อแบบ Digital
สื่อเสียงดิจิตอลที่เห็นส่วนใหญ่จะอยู่ในรูปของแผ่น CD เพลง ที่เรียกว่า Audio CD หรือ Compcat Disc แต่ด้วยเทคโนโลยี ในปัจจุบัน สื่อเสียงดิจิตอล จะถูกพัฒนาไปอยู่ในแบบไฟล์ข้อมูลเสียงดิจิตอล format ต่างๆ(ดังรูปฟอร์มไฟล์เสียงด้านล่าง) เพิ่มขึ้นด้วย อาทิ .wav, .mp3 และ .wmv เป็นต้น ซึ่งไฟล์เสียงดิจิตอลเหล่านี้ สามารถเล่นผ่านเครื่องคอมพิวเตอร์หรือผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต อุปกรณ์เครื่องเสียงเกือบทุกประเภท(ในปัจจุบัน) อุปกรณ์เครื่องเล่นไฟล์ดิจิตอลพกพา หรือแม้กระทั่งอุปกรณ์เคลื่อนที่ต่างๆ(Tablet, Mobile Phone) เป็นต้นซึ่งในอนาคตอันใกล้ สื่อเสียงดิจิตอล นอกจากจะเป็นเพียงไฟลืเสียงเพลง ก็จะกลายเป็นสื่ออีกประเภทของกระบวนการเรียนรู้ ที่ทรงพลังอีกประเภทหนึ่ง
รูปแบบของไฟล์เสียงดิจิตอล
Format | File | Description |
---|---|---|
MIDI | .mid .midi | MIDI (Musical Instrument Digital Interface) เป็นรูปแบบไฟล์เสียงขนาดเล็กสำหรับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ที่หลากหลาย ทำงานได้บนคอมพิวเตอร์ทุกระบบปฎิบัติการ รองรับการทำงานผ่านอินเทอร์เน็ตทุกเบราว์เซอร์ |
RealAudio | .rm .ram | RealAudio ได้รับการพัฒนาสำหรับการใช้งานอินเทอร์เน็ต ด้วยรูปแบบ เสียง streaming ที่คงความชัดเจน มีขนาดเล็ก ทำให้เป็น format ที่มีผู้นำไปใช้งานด้านวิทยุอินเทอร์เน็ต อีกรูปแบบหนึ่ง |
Wave | .wav | เป็นไฟล์ข้อมูลเสียงรูปแบบของคลื่น (waveform) ถูกพัฒนาโดย IBM และ Microsoft จึงเป็นรูปแบบเสียงที่ใช้งานบนระบบปฎิบัติการเฉพาะ Windowsนอกจากนี้ยังเป็นรูปแบบที่นิยมใช้บนเว็บเบราเซอร์ในปัจจุบัน (ยกเว้น Google Chrome) |
WMA | .wma | รูปแบบ WMA (Windows Media Audio) เป็นอีกรูปแบบที่พัฒนาโดยMicrosoft เป็นรูปแบบที่มีคุณภาพเสียงค่อนข้าง ใกล้เคียงไฟล์แบบ MP3 และสามารถทำงานร่วมกับเครื่องเล่นมากที่สุด ยกเว้นค่าย Apple (iPod iPhone iPad) และจากการที่ ไฟล์ WMA มีคุณภาพสูง ทำให้เป็น format ที่มีผู้นำไปใช้งานด้านวิทยุอินเทอร์เน็ต อีกรูปแบบหนึ่ง |
MP3 | .mp3 .mpga | ไฟล์ MP3 เป็นเทคโนโลยีเสียงที่ถูกพัฒนามาจากรูปแบบของไฟล์ MPEG มีระบบการเข้ารหัสรวมการบีบอัดที่ดีทำให้ไฟล์มีขนาดเล็ก ที่มีคุณภาพสูง ดังนั้น MP3 จึงเป็นรูปแบบที่ให้คุณภาพความชัดเจนของเสียงเทียบเท่า ไฟล์เสียง Audio CD เป็นรูปแบบที่มีคุณนิยมใช้ในสื่อพกพาสูงสุด |
ประเภทของรายการวิทยุกระจายเสียงและสื่อเสียง
การผลิตรายการวิทยุกระจายเสียง จะต้องคำนึงถึงลักษณะของสถานีวิทยุ กลุ่มผู้ฟังเป้าหมาย วัตถุประสงค์ของรายการ ความยาวและระยะเวลาในการออกอากาศ จากนั้น จึงกำหนดเนื้อหารายการ และรูปแบบของรายการให้เหมาะสม อย่างไรก็ตาม การกำหนดรูปแบบรายการมักจะคำนึงถึงวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งสถานีวิทยุ และกลุ่มผู้ฟังเป็นอันดับแรก เช่น สถานีวิทยุกองทัพบก วัตถุประสงค์โดยสำคัญของสถานี คือการกระจายเสียงเพื่อความมั่นคงของชาติ สถานีวิทยุกระจายเสียงของมหาวิทยาลัย มีวัตถุประสงค์โดยสำคัญของสถานี คือ การกระจายเสียง เพื่อการศึกษาและให้ความรู้สู่มวลชน เป็นต้น
หากจะพูดถึงสื่อเสียงซึ่งที่จริงแล้วก็มีกระบวนการผลิตที่ไม่แตกต่างไปจาก การผลิตรายการวิทยุกระจายเสียง ดังนั้นจึง ขอกล่าวถึงรายการวิทยุกระจายเสียงเพื่อการศึกษาก่อน รายการวิทยุกระจายเสียงเพื่อการศึกษา เป็นลักษณะรายการมุ่ง เน้นเพื่อการศึกษา การให้การเรียนรู้โดยเฉพาะโดยกลุ่มเป้าหมายจะเป็นกลุ่มเป้าหมายเฉพาะเจาะจง อาทิ ผู้เรียนในวิชาที่กำลังออกอากาศ หรือจะเป็นประชาชนผู้สนใจทั่วๆไป แม้ว่าจะชื่อได้ว่าเป็นรายการวิทยุเพื่อการศึกษา แต่แท้ที่จริงแล้วก็ยังอยู่ในรูปแบบรายการวิทยุกระจายเสียงโดยทั่วๆไปนั่นเอง ซึ่งปัจจุบันมีผู้แบ่งรูปแบบได้ประมาณ 12 รูปแบบ คือ
- รายการพูดคุยกับผู้ฟัง (Talk Programme)
การสื่อสารจะมีลักษณะเป็นการสื่อสารแบบสองทาง (Two way Communication) กับผู้ฟัง โดยปกติผู้จัดรายการจะอาศัยเทคโนโลยีการสื่อสารที่ทันสมัย และจำเป็นต้องมีผู้ช่วยประจำรายการ คอยทำหน้าที่ในการรับสายโทรศัพท์ ลักษณะรายการส่วนใหญ่จะเน้นการแสดงความคิดเห็นในประเด็นสาธารณะ เปิดกว้างในการแสดงความคิดเห็น ผู้ดำเนินรายการจะต้องมีความอดทน และต้องรู้จักวิธีการกำหนดกรอบการแสดงความคิดเห็นให้เหมาะสมตามช่วงเวลาในรายการ และให้ได้ความคิดเห็นของคนฟังที่หลากหลาย ปัจจุบันด้วยเทคโนโลยีที่ก้าวหน้ารายการอาจจะมีการเสริมด้วยการส่งข้อความ (SMS) และอ่านข้อความนั้นๆ ออกอากาศแทน รูปแบบรายการนี้จะทำให้ทราบระดับความนิยมในรายการ ทราบความหลากหลายของกลุ่มคนฟัง และจำนวนคนฟังในรายการ จนกระทั่งสามารถสร้างชมรมคนฟังในรายการได้ เช่น รายการของ จส. 100 รายการร่วมด้วยช่วยกัน เป็นต้น
- รายการสนทนา (Conversational Programme)การสื่อสารจะเป็นการสื่อสารสองทาง (Two way Communication) กับผู้ดำเนินรายการร่วม แต่จะเป็นการสื่อสารทางเดียว (One way Communication) กับผู้ฟังทางบ้าน ยกเว้นจะเปิดโอกาสให้คนฟังสามารถโทรศัพท์เข้ามาสอบถามประเด็นในเรื่องที่ผู้ดำเนินรายการร่วม รูปแบบรายการลักษณะนี้ ผู้ผลิตรายการและผู้ดำเนินรายการร่วมจะต้องทำการกำหนดวาระในการสนทนาที่เป็นประเด็นทันสมัย ศึกษาข้อมูล ทำความตกลงร่วมกันว่าจะแบ่งประเด็นในการพูดคุยแลกเปลี่ยนกันอย่างไร สิ่งที่ควรจะระวังในรายการ คือ ความขัดเแย้งทางความคิด เพราะจะทำให้ผู้ฟังทางบ้านเกิดความสับสนในการจับประเด็น และสรุปประเด็น หากต้องการจะสอดแทรกความคิดเห็นควรจะเริ่มต้นว่า เห็นด้วยกับผู้ดำเนินรายการร่วมก่อน แต่มีข้อเสนอเพิ่มเติมว่าอย่างไร
- รายการสัมภาษณ์ (Interview Programme)
รายการนี้จะมีลักษณะเป็นการสื่อสารสองทางกับผู้ที่เชิญมาร่วมในรายการ หรืออาจจะใช้วิธีการสัมภาษณ์ผ่านทางโทรศัพท์ในกรณีที่ผู้ถูกสัมภาษณ์ไม่สะดวกที่จะเข้ามาร่วมรายการในสถานีวิทยุ ผู้ดำเนินรายการควรจะแจ้งให้ผู้ฟังทางบ้านทราบว่าผู้ที่เชิญเข้ามาสัมภาษณ์ในรายการชื่ออะไร ตำแหน่งหน้าที่การทำงาน ความสามารถเฉพาะเรื่องที่เชิญเข้ามาสัมภาษณ์ในรายการ หรือกำลังเป็นบุคคลที่ประชาชนให้ความสนใจในเวลานั้น หรือเป็นบุคคลสาธารณะ หรือเป็นบุคคลที่กำลังเกิดข้อพิพากษ์วิจารณ์ ช่วงเริ่มต้นรายการ ผู้ดำเนินรายการ ควรจะนำเสนอประเด็น ที่เกี่ยวข้องกับผู้ที่เชิญมาสัมภาษณ์ในรายการให้กับผู้ฟังรับทราบ หรือสรุปประเด็นที่สำคัญในช่วงต้นของรายการให้ผู้ฟังทราบเบื้องต้นก่อน แล้วจึงแนะนำผู้ที่เชิญมาสัมภาษณ์ และจึงเข้าสู่การสัมภาษณ์ ข้อควรปฏิบัติที่ดี ผู้ดำเนินรายการควรจะทำการนัดวัน เวลา และกำหนดประเด็นที่จะสัมภาษณ์ให้กับผู้ที่จะเชิญมาสัมภาษณ์ก่อนล่วงหน้าอย่างน้อย 3 วัน เพื่อให้ผู้ที่ถูกสัมภาษณ์สามารถเตรียมเนื้อหา หากเกิดกรณีฉุกเฉินผู้ถูกเชิญมาสัมภาษณ์สามารถแจ้งล่วงหน้าว่าไม่สามารถมาร่วมได้ ผู้ดำเนินรายการจะต้องเตรียมประเด็นสำรอง หรือเชิญผู้ถูกสัมภาษณ์อื่นมาแทนในรายการได้ทันท่วงที - รายการอภิปราย (Discussion Programme)การสื่อสารของรายการลักษณะนี้จะเป็นการสื่อสารแบบสองทางระหว่างผู้ดำเนินการอภิปรายกับผู้ร่วมอภิปราย รายการลักษณะนี้จะเป็นรายการที่มีผู้ดำเนินการอภิปราย 1 คน และผู้ร่วมอภิปรายตั้งแต่ 2 - 4 คน เนื่องจากหากมีผู้ที่เข้าร่วมอภิปรายในรายการมาก การแสดงความคิดเห็นจะทำให้เกิดความหลากหลายจนกระทั่งผู้ดำเนินการอภิปรายไม่สามารถควบคุมประเด็นได้ รายการลักษณะนี้จะต้องอาศัยทีมงานที่มีความเชี่ยวชาญในการประสานงาน และการเชิญบุคคลเข้ามาร่วมอภิปรายที่สามารถได้ความคิดเห็นที่หลากหลาย อย่างน้อยผู้ที่เข้าร่วมในรายการจะต้องอภิปรายได้ 2 ฝ่าย คือ ฝ่ายที่เห็นด้วยและฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย รายการอภิปรายที่ดี สามารถเปิดโอกาสให้ผู้ฟังโทรศัพท์เข้ามาแสดงความคิดเห็น หรือสามารถสอบถามข้อสงสัยในประเด็นที่เกี่ยวข้องในรายการกับผู้อภิปรายได้ในช่วงเวลาที่กำลังออกอากาศ (Real time) ผู้ดำเนินการอภิปรายจะเป็นเพียงผู้ตั้งคำถาม และกำหนดประเด็น กำหนดขอบเขต ควบคุมเวลาในการอภิปรายของแต่ละบุคคล รวมทั้งจะต้องมีความสามารถในการควบคุมความขัดแย้งที่อาจจะเกิดขึ้นในรายการได้เป็นอย่างดี
- รายการสารคดี (Documentary or Feature Programme)การสื่อสารของรายการลักษณะนี้จะเป็นการสื่อสารแบบทางเดียวกับผู้ฟังทางบ้าน โดยมีผู้บรรยาย 1 – 2 คน โดยควรจะเป็นคนๆ เดียวกันตลอดไป ผู้ที่ทำหน้าที่เป็นผู้บรรยายควรจะมีน้ำเสียงที่น่าเชื่อถือ โทนเสียงไม่สูงมากนัก เพื่อทำให้ผู้ฟังสามารถฟังได้จนจบรายการและเป็นการสร้างลักษณะเฉพาะของรายการ (Identity Programme) ไม่จำเป็นต้องเป็นรายการที่จัดสด สามารถบันทึกเทปล่วงหน้าได้ เพื่อให้สามารถตัดต่อและแก้ไขข้อมูลที่ถูกต้องในรายการได้ โดยส่วนใหญ่รายการสารคดีของหน่วยงานต่างๆ จะมีขนาดสั้นความยาวไม่เกิน 5 นาที การกำหนดเนื้อหาจะเป็นไปตามวัตถุประสงค์ด้านการประชาสัมพันธ์ของหน่วยงานนั้น ทั้งนี้รายการสารคดี 1 ชั่วโมงควรแบ่งออกเป็น 4 ส่วน โดยมีช่วงเวลาที่เท่ากัน คือ 10 – 15 นาที และควรจะมีความต่อเนื่องกันในการนำเสนอเนื้อหาของรายการ การกำหนดประเด็นของรายการ (Theme) ควรจะเป็นประเด็นกว้างๆ ที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ เหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ สิ่งมีชีวิต สิ่งประดิษฐ์ เป็นต้น รายการลักษณะนี้ทีมงานต้องมีความรู้ ความสามารถในการสืบค้นข้อมูล เรียบเรียงและนำเสนอเนื้อหา เลือกเพลงประกอบรายการ หรือจัดทำเสียงประกอบรายการได้อย่างเหมาะสม หากทำให้ผู้ฟังทางบ้านมองเห็นภาพได้จะเป็นรายการที่ช่วยสร้างอรรถรสให้กับคนฟังได้เป็นอย่างดี รายการสารคดีไม่จำเป็นต้องคำนึงถึงวันเวลาในการออกอากาศ แต่ควรจะเป็นเรื่องที่ส่งเสริมความรู้ให้กับผู้ฟังมากขึ้น เจาะลึกในสิ่งที่ผู้ฟังยังไม่ทราบ หรือเป็นเรื่องที่ไม่เคยมีใครรู้จักมาก่อน เช่น “ธิเบต” ดินแดนหลังคาโลก ในแต่ละช่วงควรจะนำเสนอเนื้อหาที่กระชับ สร้างความเข้าใจและความต่อเนื่องได้อย่างดี การเชื่อมโยงช่วงเวลาอาจจะอาศัยเสียงเพลง เพลงบรรเลง เสียงประกอบ เสียงบรรยาย หรืออาศัยสปอตรณรงค์ (PSA) คั่นระหว่างช่วงเวลาได้
- รายการนิตยสารทางอากาศ (Magazine Programme)การสื่อสารจะเป็นลักษณะของการสื่อสารทางเดียวกับผู้ฟังทางบ้าน รายการนิตยสารทางอากาศควรจะเป็นรายการที่มีผู้ดำเนินรายการหลัก 1 คน และมีผู้ดำเนินรายการในแต่ละช่วงรายการช่วงละ 1 คน ทั้งนี้รายการใน 1 ชั่วโมงควรแบ่งออกเป็น 4 ช่วงๆ ละ 10 – 15 นาที มีความหลากหลายทั้งเนื้อเรื่อง และรูปแบบการนำเสนอ เน้นความทันสมัยและตรงกับเหตุการณ์ของเรื่องราวที่นำเสนอ โดยคำนึงถึงกลุ่มเป้าหมายเป็นสำคัญ การนำเสนอควรจะให้เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมาย เช่น กำหนดกลุ่มเป้าหมายเป็น รายการนิตยสารสำหรับผู้หญิง ข้อมูลที่นำเสนอจะเกี่ยวข้องกับการดูแลรักษารูปร่าง การรักษาผิวพรรณ แฟชั่นการแต่งกาย การสร้างเสน่ห์กับเพศตรงข้าม เป็นต้น โดยมีประเด็นในการนำเสนอที่แตกต่างกันแต่ควรจะอยู่ในหัวข้อที่ใกล้เคียงกัน หรืออาจจะเป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับช่วงวันและเวลาที่จะออกอากาศ เช่น รายการจะออกอากาศวันที่ 10 ตุลาคม 2547 ประเด็นควรจะเป็นเรื่องของ เทศกาลกินเจ ระหว่างวันที่ 13- 20 ตุลาคม 2547 โดยช่วงแรกนำเสนอประวัติความเป็นมาและความสำคัญของการกินเจ ช่วงที่สอง ร้านอาหารที่เปิดบริการอาหารเจ ช่วงที่สาม เป็นข้อมูลสุขภาพของอาหารเจ เป็นต้น ทั้งนี้การนำเสนอในแต่ละช่วงควรอาศัยบทบรรยาย การสัมภาษณ์ การสนทนา หรือ Vox pop สลับกับเพลงประกอบรายการ จิงเกิ้ลรายการ เสียงประกอบ เพลงบรรเลง เป็นต้น
- รายการข่าว (News Programme)
การสื่อสารจะเป็นการสื่อสารแบบทางเดียวกับผู้ฟังทางบ้าน โดยส่วนใหญ่รายการข่าวจะมีอยู่ 2 รูปแบบ คือ รายการข่าวประจำวัน และรายการข่าวสั้นในแต่ละช่วงของวัน ซึ่งจะมีความยาวของรายการที่แตกต่างกัน และมีวิธีการนำเสนอที่แตกต่างกัน รายการข่าวประจำวันจะมีความยาว 1 ชั่วโมง โดยจะแบ่งออกตามประเภทของข่าว ได้แก่ ข่าวเด่นประจำวัน ข่าวสังคม ข่าวเศรษฐกิจ ข่าวเกษตร ข่าวต่างประเทศ ข่าวกีฬา ทั้งนี้จะมีผู้ประกาศข่าว 1 – 2 คน และมีผู้สื่อข่าวนอกสถานที่กระจายตามพื้นที่ โดยเป็นการรายงานสดทางโทรศัพท์ รายงานสดจากสถานที่จัดประชุม หรือเป็นการส่งเทปที่ตัดต่อแล้วมาออกอากาศทางสถานี ส่วนข่าวสั้นในแต่ละช่วงของวันนั้นจะมีความยาวไม่เกิน 3 - 5 นาที ซึ่งจะเป็นประเด็นด่วนในช่วงเวลานั้น การผลิตรายการจะอาศัยจิงเกิ้ลรายการข่าวที่ฟังแล้วเกิดความรู้สึกอยากรู้ อยากฟัง ทั้งนี้ควรจะมีสโลแกนของรายการข่าวเพื่อให้คนฟังสามารถจดจำได้ว่าเป็นรายการข่าวประจำสถานีวิทยุนั้น
- รายการเพลง (Music Programme)
การสื่อสารจะเป็นลักษณะสองทาง โดยมีผู้จัดรายการ หรือ DJ รายการละ 1 คน ดำเนินรายการ 1 – 3 ชั่วโมงต่อวัน รวมทั้งทำหน้าที่ในการประสานความบันเทิงในรายการตามคำขอของผู้ฟัง หรืออาจจะเป็นการเปิดเพลงที่กำลังอยู่ในความนิยม ตามรูปแบบของรายการ หรือให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมายของคนฟังในรายการ โดยส่วนใหญ่รายการเพลงจะเป็นรายการที่เน้นการเปิดเพลงเพื่อการประชาสัมพันธ์ การโฆษณาสินค้า หรือผู้สนับสนุนรายการ ซึ่งรายการลักษณะนี้จะเป็นรายการที่มีจำนวนมาก เนื่องจากเป็นรายการที่มีกลุ่มผู้ฟังสูงกว่ารายการประเภทอื่น ปัจจุบันรายการเพลงของสถานีวิทยุในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลนั้นจะเน้นการเปิดเพลงมากกว่าการพูด หรือที่เรียกว่า Non – stop music เนื้อหาที่นำเสนอในรายการจะมีความเบา ฟังง่ายและเกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิตประจำวัน สลับกับการเล่นเกมส์ ตอบปัญหาชิงรางวัลจากผู้สนับสนุนรายการ การเปิดสปอตโฆษณา และการรายงานข่าวตมสถานการณ์ หรือการรายงานข่าวจราจร เป็นต้น รูปแบบรายการเพลงนั้นผู้จัดรายการจะจัดรายการและเลือกเปิดเพลงตามความถนัดของตนเอง รวมทั้งจะต้องมีความสามารถในการเลือกเพลง จดจำรายชื่อเพลง เชื่อมต่อเพลงในรายการได้อย่างต่อเนื่อง (Smooth) สามารถให้ข้อมูลเพลงที่เปิดได้ เช่น ข้อมูลนักร้อง (Singer) ผู้แต่งเพลง (Composer) อัลบั้ม (Album/ Version) ผลงานสร้างชื่อเสียง รางวัลที่ได้ ความเคลื่อนไหวในวงการเพลง ความเคลื่อนไหวของศิลปิน เป็นต้น
- รายการปกิณกะ (Variety Programme)
เป็นรายการที่มีความหลากหลายในการนำเสนอเนื้อหาสาระ หรือเป็นการเปิดกว้างของรายการภายในเวลา 1 ชั่วโมง โดยจะมีผู้ดำเนินรายการ 1 คน คอยทำหน้าที่เชื่อมโยงเนื้อหารายการในแต่ละช่วง ไม่จำเป็นต้องเป็นรายการสด และไม่จำเป็นต้องเป็นหัวเรื่องเดียวกัน (Theme) ความหลากหลายในแต่ละช่วง จะถูกกำหนดโดยชื่อของช่วงรายการที่จะต้องเป็นชื่อช่วงรายการเดิมแต่เปลี่ยนแปลงเนื้อหาที่นำเสนอได้ ความยาวของแต่ละช่วงรายการมีขนาดไม่เท่ากัน โดยอยู่ระหว่าง 3 – 15 นาที ขึ้นอยู่กับขอบเขตในการนำเสนอเนื้อหา เสียงผู้บรรยายในแต่ละช่วงจะเป็นคนเดียวกันทุกช่วงหรือหลายคนก็ได้ หากเป็นคนเดียวกันควรจะอาศัยบทสัมภาษณ์ การสนทนา การ Vox pop เพลง เสียงประกอบ สปอตรณรงค์ สปอตโฆษณา เพื่อไม่ให้คนฟังเกิดความเบื่อหน่ายในการฟังรายการได้ การกำหนดเนื้อหาในรายการนั้นควรสอดคล้องกับเหตุการณ์ หรือเรื่องที่คนกำลังสนใจในเวลานั้นเป็นสำคัญ
- รายการละครวิทยุ (Radio Drama)
เป็นรายการการแสดงที่ใช้เสียงบอกเล่าเรื่องราว แสดงอารมณ์ ความรู้สึกและสามารถถ่ายทอดความนึกคิดต่างๆ ไปสู่ผู้ฟังได้ โดยไม่จำเป็นต้องมองเห็นท่าทางกิริยาของผู้แสดง ละครที่แสดงทางวิทยุกระจายเสียงนั้นมีจุดมุ่งหมายเพื่อสร้างสรรค์ความบันเทิง ให้ความรู้ ให้แง่คิดแก่คนฟัง หรือเป็นละครเพื่อการรณรงค์ในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง การผลิตรายการละครหนึ่งเรื่องต้องอาศัยทีมงานที่ประกอบไปด้วย ผู้เขียนบทละคร ผู้แสดงละคร ผู้กำกับละคร และบุคลากรทางด้านเทคนิค เสียงประกอบ ทั้งนี้รายการละครจะต้องทำการผลิตและบันทึกเทปล่วงหน้า 3 ขั้นตอน คือ ขั้นวางแผนและเตรียมงาน ขั้นการผลิต และขั้นหลังการผลิตเพื่อตรวจสอบและประเมินผลรายการ ส่วนใหญ่แล้วความยาวของรายการละครหนึ่งเรื่องจะไม่เกิน 30 – 45 นาที โดยจะเป็นเรื่องสั้นจบในตอนหรือแบ่งออกเป็นตอนๆ เพื่อสร้างความต่อเนื่อง ทีมงานละครจะต้องตั้งชื่อทีมละคร กำหนดเพลงรายการละคร และมีผู้บรรยายประจำรายการเพื่อนำเสนอเรื่องย่อ ความเดิมจากตอนที่แล้ว ของรายการทุกวัน - รายการตอบปัญหา (Quiz Programme)
เป็นรายการที่คล้ายคลึงกับกับรายการที่เน้นเนื้อหาทางวิชาการ ซึ่งเป็นลักษณะของการสื่อสาร 2 ทิศทางระหว่างผู้ดำเนินรายการ และผู้ตอบปัญหาทางบ้าน รายการลักษณะนี้จะไม่ค่อยปรากฏเนื่องจากไม่ค่อยมีผู้สนับสนุนรายการชัดเจน ผู้ดำเนินรายการจะต้องศึกษาข้อมูลในเชิงวิชาการมามาก และจำเป็นต้องมีผู้เชี่ยวชาญทางวิชาการที่จะมาเป็นผู้ร่วมรายการเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือให้กับรายการ - รายการบรรยายเหตุการณ์ (Commentary Programme)
เป็นรายการถ่ายทอดสดจากสถานที่เกิดเหตุการณ์ในเวลานั้น โดยส่วนใหญ่จะแทรกได้ทุกช่วงเวลาของการเกิดเหตุการณ์ ทั้งนี้เหตุการณ์นั้นจะต้องมีความสำคัญและเกิดผลกระทบต่อประชาชนระดับประเทศ หรือเป็นประเด็นสาธารณะที่คนสนใจในขณะนั้น เช่น การโต้วาทีของผู้สมัครเลือกตั้งของประธานาธิบดี การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร การเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นต้น
.
วิธีการจัดการเรียนรู้ผ่านทางรายการวิทยุกระจายเสียง
การจัดการศึกษาผ่านทางวิทยุกระจายเสียง เริ่มมาตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2518 โดยกองการศึกษาผู้ใหญ่ กรมสามัญศึกษา ร่วมกับ ศูนย์เทคโนโลยีทางการศึกษา กรมวิชาการ (ซึ่งต่อมาได้รวมหน่วยงานมาเป็น กรมการศึกษานอกโรงเรียน และสำนักงาน กศน. ในปัจจุบัน) ได้เสนอโครงการวิทยุและโทรทัศน์เพื่อการศึกษานอกโรงเรียนขึ้น ในการดำเนินงานนั้นมีการทดลองใช้วิทยุกระจายเสียงเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนการสอน (กรมการศึกษานอกโรงเรียน 2519,4)
ลักษณะของการจัดรายการเรียนรู้ เป็นรายการทั่วไปและรายการการศึกษา โดยรายการทั่วไปจัดให้กับกลุ่มผู้รับชม รับฟังทั้งในเมืองและชนบท ให้บริการความรู้ทั่วไป และส่งเสริมความคิดใหม่ ๆ ในเรื่องการเกษตร ธรรมจริยา ภูมิปัญญา อนามัยและการวางแผนครอบครัว ในช่วงแรกใช้สถานีวิทยุกระจายเสียงของท้องถิ่นเป็นหลัก ต่อมาเมื่อกรมประชาสัมพันธ์ได้จัดตั้งวิทยุกระจายเสียงเพื่อการศึกษาขึ้น จึงได้ใช้สถานีวิทยุแห่งนี้กระจายเสียงรายการการศึกษาของโครงการดังกล่าว และในปี พ.ศ. 2519 ได้ทดลองหลักสูตรการศึกษาผู้ใหญ่แบบเบ็ดเสร็จ ระดับที่ 5 ทางวิทยุและไปรษณีย์ขึ้นด้วย จนถึงปี พ.ศ. 2530 กรมการศึกษานอกโรงเรียนได้พัฒนาหลักสูตรการศึกษาสายสามัญขึ้น แบ่งการศึกษาเป็นระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษาตอนต้น และมัธยมศึกษาตอนปลาย โดยมีวิธีเรียน 3 วิธีเรียน คือ วิธีเรียนแบบชั้นเรียน วิธีเรียนด้วยตนเอง และวิธีเรียนทางไกล ซึ่งพัฒนามาจากการศึกษาสายสามัญและการศึกษาทางวิทยุและไปรษณีย์
บทสรุป
แม้ว่าปัจจุบันรายการวิทยุโดยส่วนใหญ่ จะถูกดำเนินการในเชิงพาณืชย์ รายการที่เป็นด้านการศึกษาโดยเนื้อแท้นับว่ามีจำนวนน้อยมาก แต่ก้ไม่ได้หมายความว่า รายการวิทยุเพื่อการศึกษาจริงๆได้ตายหรือสูญหายไป เพียงแต่ถูกขีดเส้นด้วยกรอบเวลา ที่เหลือน้อยลงในแต่ละรายการของในแต่ละสถานี นอกจากนี้ยังมีสถานีที่ดำเนินรายการเป็นการเฉพาะอยู่บ้าง อาทิ สถานีวิทยุเพื่อการศึกษา(วิทยุศึกษา) ที่ผลิตรายการโดย ศูนย์เทคโนโลยีทางการศึกษา สำนักงาน กศน. กระทรวงศึกษาธิการ รวมถึง สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยในเขตพื้นที่ เฉพาะในบางรายการที่ผลิตโดยสถาบัน กศน.ภาคต่างๆ อาทิรายการวัฒนธรรมนำสุข ของ สถาบัน กศน.ภาคเหนือ ออกอากาศทาง สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย จังหวัดเชียงใหม่ (ความถึ่ AM. 639 KHz)
ข้อมูลอ้างอิง : http://www.ipesp.ac.th/learning/thai/chapter9-1.html
ไม่มีความคิดเห็น
Do not recommend gambling sites of any kind. If violated, will be prosecuted according to the law.
ขอบคุณที่ได้ให้ความสนใจบทความ ใน mediathailand network ครับ