Column Right

(1)ความหมายคำว่าชุมชน

ในการสร้างฐานข้อมูลความรู้ชุมชน ผู้สร้างจะต้องเข้าใจหลักการและความหมาย รวมถึงความสำคัญของชุมชนก่อน ซึ่งศูนย์ข้อมูลความรู้ประชาชน : Thailand Knowledge Portal หรือ TKP ได้นำมาเป็นแนวทางและประยุกต์ต่อการสร้างฐานข้อมูลเครือข่ายนี้

 ราชบัณฑิตยสถาน (2542 : 368) ได้ให้ความหมายของชุมชนไว้ว่า ชุมชน คือหมู่ชน กลุ่มคนที่อยู่รวมกันเป็นสังคมขนาดเล็ก อาศัยอยู่ในอาณาบริเวณเดียวกันและมีผลประโยชน์ร่วมกัน

ปราสาท หลักศิลา (2519 : 2) กล่าวว่าชุมชน หมายถึง กลุ่มคนพวกหนึ่งซึ่งครอบครองบริเวณที่มีอาณาเขตแน่นอน โดยถือว่าตนมีความผูกพันอยู่กับอาณาบริเวณแห่งนั้นและมีความยึดเหนี่ยวกันเป็นปึกแผ่นมั่นคง

สัญญา สัญญาวิวัฒน์ (2525 : 6) ได้ให้ความหมายว่า ชุมชน หมายถึง องค์การทางสังคมอย่างหนึ่งที่มีอาณาเขตครอบคลุมท้องถิ่นหนึ่งและปวงสมาชิกสามารถบรรลุถึงความต้องการพื้นฐานส่วนใหญ่ได้และสามารถแก้ไขปัญหาส่วนใหญ่ในชุมชนของตนเองได้

ชยันต์ วรรธนะภูติ (2536) กล่าวถึง “ชุมชน” ในความหมายว่า หมายถึง การอยู่รวมกันของกลุ่มคนจำนวนหนึ่งในพื้นที่แห่งหนึ่ง เพื่ออาศัยทรัพยากรธรรมชาติในบริเวณนั้นในการดำรงชีวิต โดยเหตุที่มีคนกลุ่มดังกล่าวอาศัยอยู่ร่วมกันใช้ทรัพยากรเพื่อการผลิต จึงมีการกำหนดรูปแบบความสัมพันธ์ซึ่งกันและกันขึ้น มีองค์กรหรือสถาบันของชุมชนกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ทั้งนี้ ชุมชน หมายถึง สังคมขนาดเล็กในชนบทที่ยังไม่พัฒนาหรือสังคมหมู่บ้านที่สมาชิกของสังคมยังมีความสัมพันธ์แบบเครือญาติ และยังสามารถรักษาแบบแผนการดำรงชีวิตบางส่วนได้ และได้ตีความหมายของคำว่า “ชุมชน” ในระดับเดียวกับคำว่า “สังคมหมู่บ้าน” ซึ่งเป็นการช่วยให้เข้าใจความหมายของคำว่า “ชุมชน” ในระดับ “สังคมหมู่บ้าน” ซึ่งเป็นการช่วยให้เข้าใจในความหมายของคำว่า “ชุมชน” ในลักษณะที่จะเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาวิเคราะห์ชุมชน ทั้งนี้ เพราะคำว่า “หมู่บ้าน” สื่อความหมายให้เข้าใจถึงการกระจุกตัวของบ้านหลาย ๆ บ้านหรือหลายครัวเรือนในพื้นที่แห่งหนึ่งหรือในระบบนิเวศน์แห่งหนึ่งและเป็นหน่วยสังคมขนาดเล็กที่สุดที่สมาชิกของสังคมพัฒนาขึ้นตามธรรมชาติและต่อมาภายหลังทางราชการอาจจะกำหนดให้เป็น “หมู่บ้าน” ในความหมายของทางราชการ 

กาญจนา แก้วเทพ (2538) กล่าวถึง “ชุมชน” ว่า “ชุมชน“ หมายถึง กลุ่มคนที่อาศัยอยู่ในอาณาเขตบริเวณเดียวกัน มีความสัมพันธ์ใกล้ชิด มีฐานะและอาชีพที่คล้ายคลึงกัน มีลักษณะของการใช้ชีวิตร่วมกัน มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ตั้งแต่ระดับครอบครัวไปสู่ระดับเครือญาติ จนถึงระดับหมู่บ้านและระดับเกินหมู่บ้านและผู้ที่อาศัยในชุมชนมีความรู้สึกว่าเป็นคนชุมชนเดียวกัน นอกจากนี้ ยังมีการดำรงรักษาคุณค่าและมรดกทางวัฒนธรรมและศาสนาถ่ายทอดไปยังลูกหลานอีกด้วย

จิตติ มงคลชัยอรัญญา (2540 : 3) กล่าวว่า ชุมชนประกอบไปด้วย ระบบความสัมพันธ์ของคน ความเชื่อ ศาสนา ประเพณีวัฒนธรรม ระบบเศรษฐกิจ อาชีพ ระบบการเมือง ระบบการปกครองและโครงสร้างอำนาจ รวมถึงระบบนิเวศวิทยา สิ่งแวดล้อมและเทคโนโลยีด้านต่าง ๆ ซึ่งระบบเหล่านี้มีความสัมพันธ์ต่อกันและระหว่างกัน หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่ามีความเชื่อมโยงกันชนิดที่ไม่สามารถแยกจากกันได้

ประเวศ วะสี (2541 : 13) ให้ความหมายว่า ชุมชน หมายถึง การที่คนจำนวนหนึ่งมีวัตถุประสงค์ร่วมกัน มีความเอื้ออาทรต่อกัน มีความพยายามที่จะทำอะไรร่วมกัน มีการเรียนรู้ร่วมกันในการกระทำ ซึ่งรวมถึงการสื่อสารกัน

สนธยา พลศรี (2547 : 22) ได้สรุปความหมายของคำว่า ชุมชนจากความหมายโดยสามัญสำนึก ความหมายโดยรูปศัพท์และความหมายทางวิชาการไว้ว่า ชุมชน หมายถึง กลุ่มทางสังคมที่อยู่อาศัยร่วมกันในอาณาบริเวณเดียวกัน เช่น ครอบครัว ละแวกบ้าน หมู่บ้าน ตำบล หรือเรียกเป็นอย่างอื่นมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน มีการติดต่อสื่อสารและเรียนรู้ร่วมกัน มีความผูกพัน เอื้ออาทรกันภายใต้บรรทัดฐานและวัฒนธรรมเดียวกัน ร่วมมือและพึ่งพาอาศัยกัน เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์และเปูาหมายร่วมกัน

นอกจากนี้คำว่า ชุมชน ในความหมายนักวิชาการนานาชาติ ได้ให้ความหมายทั้งที่คล้ายคลึงกันอาทิ คำว่า Community มีความหมายในภาษาไทยว่า “ชุมชน” เรามาดูกันว่าชุมชนในมุมมองของนักวิชาการนานาชาติได้ให้ความหมายของคำว่าชุมชน เช่นใดบ้าง

พจนานุกรม Oxford Advanced Learner’s Dictionary English (1994) ได้ให้ความหมายของ ชุมชน ว่าหมายถึง กลุ่มผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่แห่งหนึ่ง มีความรู้สึกว่าเป็นพวกเดียวกัน มีศรัทธา ความเชื่อ เชื้อชาติ การงาน หรือมีความรู้สึกนึกคิด ความสนใจที่คล้ายคลึงกัน มีการเกื้อกูลการเป็นอยู่ร่วมกัน

แคมบริดจ์ (Cambridge Advanced Learner’s Dictionary, 2003 : 53) ได้ให้ความหมายเกี่ยวกับ ชุมชน (Commune) ว่าหมายถึง กลุ่มคนหรือกลุ่มครอบครัวที่อยู่อาศัยร่วมกันในพื้นที่หนึ่งพื้นที่ใด (Particular Area) โดยกลุ่มคนเหล่านี้ต่างก็ทำงานร่วมกัน ใช้สิทธิและเป็นเจ้าของพื้นที่และผลประโยชน์ต่าง ๆ ร่วมกัน จนทำให้เกิดพื้นฐานทางความคิด ความเชื่อ ตลอดจนมีการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ สังคมร่วมกัน ประหนึ่งว่ากลุ่มคนเหล่านี้เป็นหนึ่งเดียวกัน (As a Unit) ทั้งชุมชน

สำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP, 2013) ได้กล่าวถึงชุมชนว่า เป็นดินแดนแห่งการรวมตัวทางสังคมที่เป็นการสมัครใจก่อขึ้นเองโดยประชาชน ส่วนใหญ่แล้วสนับสนุนตนเองและอยู่ในกฎเกณฑ์ที่กำหนดขึ้น ชุมชนประกอบด้วยองค์กรต่าง ๆ ทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ รวมถึงกลุ่มความสนใจ (ชมรม) กลุ่มวัฒนธรรมและศาสนา สมาคมอนุรักษ์ หรือพัฒนาสังคม/กลุ่ม

Blaker Brownell (1950) ได้ให้ความหมายของชุมชนไว้หลายประการ ซึ่งสรุปได้ว่า “ชุมชน” คือ การกระทำที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความร่วมมือ ร่วมใจ ความรู้สึกเป็นเจ้าของ เป็นสังคมที่คนรู้จักกันอย่างใกล้ชิดและสนิทสนม

แซนเดอร์ส (Sanders, 1958 : 189) ให้ความหมายว่า ชุมชนเป็นกลุ่มบุคคลหลาย ๆ กลุ่มมารวมกันในบริเวณเดียวกันภายใต้กฎหมายหรือข้อบังคับอันเดียวกัน มีการสังสรรค์กัน มีความสนใจร่วมกัน มีวัฒนธรรมเดียวกันและมีพฤติกรรมเหมือน ๆ กัน

Lofauist (1983) ให้ความหมายในชุมชนว่า “ชุมชน” คือ จิตวิญญาณหรือความรู้สึก เกิดขึ้นเมื่อคนตั้งแต่สองคนขึ้นไปมาทำงานร่วมกัน เพื่อที่จะบรรลุถึงเป้าหมายที่ต้องการร่วมกัน

นอร์ตัน (Norton, 1994 : 158) ได้อธิบายคำว่า ชุมชน หรือ Commune ว่าเป็นคำที่มาจากภาษาฝรั่งเศส ซึ่งหมายถึง การอยู่ร่วมกันของประชาชนในท้องที่ใดท้องที่หนึ่งเป็นเวลานาน จนทำให้ประชาชนเหล่านี้มีความรักและผูกพันกันจนเป็นหนึ่งเดียว จึงได้พยายามร่วมกันในการจัดระบบการปกครองตัวเองขึ้น เรียกว่า Self-Governing Community อันถือว่าเป็นรากฐานสำคัญของการปกครองท้องถิ่นในฝรั่งเศส เยอรมันและอีกหลายประเทศในทวีปยุโรป



ไม่มีความคิดเห็น

Do not recommend gambling sites of any kind. If violated, will be prosecuted according to the law.

ขอบคุณที่ได้ให้ความสนใจบทความ ใน mediathailand network ครับ

new story

Recent Posts Widget